27 ส.ค. 2554

โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

_thumb_100x100          ปัจจุบันเราจะได้ยินข่าวการฆ่าตัวตายจากสื่อต่างๆ มากขึ้น หลายครั้งที่สังคมเกิดคำถามว่าอะไรเป็นปัจจัยให้คนเราฆ่าตัวตาย ทางองค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ

1 คน ทุก 40 วินาทีและมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และในขณะเดียวกันผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นมีโอกาสฆ่าตัวตายสูงเป็น 20 เท่า เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป

h2

          จะเห็นว่าทั้งภาวะการฆ่าตัวตายและโรคซึมเศร้านั้นมีความเชื่องโยงกัน การสูญเสียจากการฆ่าตัวตายมิใช่เพียงแค่สูญเสียทรัพยากรบุคคล หรือสูญเสียทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากบุคคลซึ่งกระทำการฆ่าตัวตายเท่านั้น หากแต่ยังมีการสูญเสียทางจิตใจเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่รอบตัวของบุคคลที่กระทำการฆ่าตัวตายอีกด้วย ทางองค์การอนามัยโลกพบว่า การฆ่าตัวตายส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อ-แม่ พี่-น้อง สามี-ภรรยา และเพื่อนๆ ของผู้ตายอีกอย่างน้อย 5-10 คน นั่นคือ มีคนประมาณ 5-10 ล้านคนต่อปี ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากผู้ซึ่งกระทำการฆ่าตัวตายในปัจจุบันนี้

          จากการศึกษาร่วมกันระหว่าง องค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และธนาคารโลก เพื่อคาดการณ์ภาระโรค (Burden of disease) ที่มีต่อประชากรในทุกภูมิภาคของโลก ปรากฏว่าโรคซึมเศร้า ได้เปลี่ยนแปลงอันดับของโรคที่เป็นภาระจากอันดับที่ 4 ในปี ค.ศ.1990 มาเป็นอันดับที่ 2 ในปี ค.ศ.2020 นั่นหมายถึงว่า โรคซึมเศร้าจะก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพของประชากรโลกเป็นเท่าตัวภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ การป้องกันการฆ่าตัวตายอันเกิดจากโรคซึมเศร้าที่ดีที่สุดคือ การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคโดยเร็วและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

          ผู้ที่มีอาการซึมเศร้านั้นมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป เพราะในความเป็นจริงแล้ว อารมณ์เศร้าเป็นอารมณ์ด้านลบชนิดหนึ่งซึ่งทางจิตวิทยาถือว่า เป็นสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติได้เป็นครั้งคราวกับบุคคลทั่วไปเมื่อเผชิญกับการสูญเสีย การพลาดในสิ่งที่หวัง การถูกปฏิเสธ แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นอาการเศร้าจะมากเกินควรและอยู่นานเกินไป ไม่ดีขึ้นแม้ได้รับกำลังใจหรืออธิบายด้วยเหตุผล มักจะมีความรู้สึกด้อยค่า รู้สึกผิด อยากตายร่วมด้วย และต้องมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน กิจวัตรประจำวัน และการสังคมทั่วไปของบุคคลนั้น

          จิตแพทย์ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าจากกลุ่มอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 5อาการ โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นแทบทั้งวันและเป็นเกือบทุกวันติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 2สัปดาห์ตลอดจนทำให้เสียหน้าที่การงานหรือบทบาททางสังคม กลุ่มอาการ ดังกล่าวได้แก่

  1. มีอารมณ์เศร้า ทั้งที่ตนเองรู้สึกและคนอื่นสังเกตเห็น
  2. ความสนใจหรือความเพลิดเพลินในกิจกรรมปกติที่เคยทำทั้งหมด หรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น (มากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน)/เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ
  4. ทำอะไรช้า เคลื่อนไหวช้าลง หรือบางคนอาจกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
  5. เหนื่อยอ่อนเพลียหรือไม่มีแรง รู้สึกตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินควร
  6. สมาธิหรือความคิดอ่านลดลง
  7. คิดถึงเรื่องการตายอยู่ซ้ำๆ หรือคิดฆ่าตัวตาย มีแผนการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย